วันศุกร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2556

สงกรานต์กับเรื่องร้อนๆของอากาศ


หน้าร้อนนี้ ร้อนนัก ในช่วงสงกรานต์นี้จะรับมือและเรียนรู้กันอย่างไรดี? เมื่อเร็ว ๆ นี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการครูผู้สอนโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ณ โรงแรมเบย์ จ.สมุทรปราการ รวมทั้งไปศึกษาเรียนรู้ที่กรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อให้ครูมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ จนสามารถนำไปถ่ายทอดให้กับผู้เรียนได้อย่างถูกต้อง ซึ่งผู้เขียนมีโอกาสได้ไปพูดคุยกับนักวิชาการทั้งจาก สสวท. และกรมอุตุนิยมวิทยาถึงเรื่องนี้กัน
ทราบหรือไม่ว่าการพยากรณ์อากาศของไทย มีความแม่นยำในระดับสูง?.....นายชูเกียรติ ไทยจรัสเสถียร นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการพิเศษ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา เล่าว่า กว่าจะมาเป็นข่าวพยากรณ์อากาศ ขั้นตอนเริ่มต้นคือกระบวนการตรวจอากาศ ต่อมาเป็นการวิเคราะห์และพยากรณ์อากาศ และขั้นตอนสุดท้ายคือการเผยแพร่ข่าวพยากรณ์อากาศ
ผลประเมินการพยากรณ์อากาศในประเทศไทยมีความแม่นยำประมาณ 68 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งประเทศในเขตร้อนจะพยากรณ์ได้ยากกว่าเขตหนาว เนื่องจากปัจจัยต่าง ๆ มีเยอะกว่า โดยประเทศในเขตหนาวมักขึ้นอยู่กับแนวปะทะอากาศ คลื่นกระแสลมตะวันตก บริเวณความกดอากาศสูงที่แผ่ปกคลุม  ผลกระทบในเรื่องฝนมีบ้างแต่ก็จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ส่วนประเทศไทยเป็นประเทศในเขตร้อนและมีความชื้นสูง ภูมิประเทศเป็นน่านน้ำ 2 ฝั่ง ฝั่งซ้ายมีมหาสมุทรอินเดีย ทะเลอันดามัน ฝั่งขวามีอ่าวไทย ทะเลจีนใต้ เรียกได้ว่ามีพื้นที่น่านน้ำล้อมรอบ ตัวแปรในการเกิดฝนจึงมีมากกว่าและตกได้ยาวนานกว่า
โดยทั่วไปถ้าเทียบกับมาตรฐานของนานาประเทศ การพยากรณ์อากาศของไทย แม้จะได้ค่าความแม่นยำประมาณ 68 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในเส้นละติจูดเดียวกัน ถือว่าบ้านเรายังมีความแม่นยำสูงในการพยากรณ์อากาศในระยะสั้นหรือในข่าวอากาศที่ออกประจำวัน
“กรมอุตุนิยมวิทยาได้นำผลการประเมินฝนมาทำการวิเคราะห์ และนำมาพัฒนาการพยากรณ์อากาศให้ดีมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผลการพยากรณ์อากาศมีความถูกต้องมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในบางปีลักษณะอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติหรือผิดฤดูกาล รวมทั้งมีปรากฏการณ์เอลนินโญ่และลานินญ่า แม้ว่ามีความยุ่งยากในการพยากรณ์อากาศ นักพยากรณ์อากาศก็จะเร่งหาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ ๆ มาทำการพยากรณ์อากาศให้มีความถูกต้องมากขึ้นเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของลักษณะอากาศตลอดเวลา”
สำหรับแนวโน้มของอุณหภูมิในฤดูร้อนของปีนี้ ในบางพื้นที่บริเวณตอนกลางของประเทศ เช่น ลำปาง อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ อาจจะอุณหภูมิสูงถึง 42-43 องศาเซลเซียส แต่จะมีฝนฟ้าคะนองเข้ามาอย่างเรื่อย ๆ ต่างจากในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุกหนาแน่น โดยในช่วงหน้าร้อนเมฆฝนส่วนใหญ่มีการยกตัวอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่า พายุฤดูร้อน โดยมีลักษณะของพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บในบางพื้นที่ ซึ่งฝนที่ตกช่วงนี้จะตกเพียงแค่คลายร้อนชั่วคราวแต่ไม่สามารถคลายแล้งลงได้  
“จากค่าสถิติ เมื่อเทียบกับค่าปกติแล้ว ถือว่าฝนในช่วงฤดูแล้งปีนี้ ฝนในประเทศไทยมีแนวโน้มมากกว่าปกติเล็กน้อย ทำให้อุณหภูมิในหน้าร้อนบางพื้นที่ลดลงกว่าค่าปกติเล็กน้อย ทั้งนี้เกณฑ์อากาศร้อนของกรมอุตุนิยมวิทยา  โดยอุณหภูมิในช่วง 35-39.9 องศาเซลเซียสอยู่ในเกณฑ์ร้อน ถ้ามากกว่า 40.0 องศาเซลเซียสขึ้นไปถือว่าอยู่ในเกณฑ์ร้อนจัด”
เมื่อถามถึงแนวโน้มของอุณหภูมิในช่วงสงกรานต์ปีนี้ บ้านเราทั่วทุกภูมิภาคจะต้องเตรียมกับรับมือกับสภาวะอากาศอย่างไร? นายชูเกียรติ ให้ความเห็นว่า ช่วงนี้มีความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนเข้ามามีอิทธิพลส่งผลทำให้มีอากาศที่ร้อนอบอ้าว โดยมีอากาศร้อนถึงร้อนจัดโดยทั่วไป และมีฟ้าขมุกขมัวสลัว ๆ ในตอนกลางวันหรือฟ้าหลัวนั่นเอง ส่วนฝนฟ้าคะนองที่ตกในช่วงนี้มักเกิดจากการกระทบของมวลอากาศร้อนและเย็น ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองได้ แต่เมื่อฝนลดลงหรือหยุดแล้ว อากาศก็จะร้อนขึ้นอย่างรวดเร็ว
’ช่วงสงกรานต์ปีนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดอากาศร้อนจัดในบางพื้นที่ อาจมีพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงได้“
ในส่วนของ นางฤทัย เพลงวัฒนา นักวิชาการสาขาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ ของ สสวท. ได้อธิบายว่า รายวิชาโลก ดาราศาสตร์ และอวกาศที่ปรากฏอยู่ในหลักสูตรที่ประกาศโดยกระทรวงศึกษาธิการนั้น จะช่วยสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับปราฏการณ์ทั้งในโลกและนอกโลก อีกทั้งสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนในช่วงวันสงกรานต์ที่เกี่ยวข้องกับวิชานี้คือ “สภาพอากาศที่ร้อนจัด” ซึ่งคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดประเพณีนี้ ดังนั้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ อาจเรียนรู้ได้จาก 2 ประเด็นหลัก ประกอบด้วยประเด็นแรก เหตุใดในช่วงเดือนเมษายนของประเทศไทยจึงมีอุณหภูมิสูง?
คำตอบก็จะมาจากการศึกษาเกี่ยวกับการเกิดฤดูกาล ซึ่งเกี่ยวข้องกับเนื้อหาทางดาราศาสตร์ โดยสรุปได้ว่าการที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ในลักษณะแกนเอียง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 ปี ส่งผลให้แต่ละบริเวณของพื้นผิวโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน ในเดือนเมษายน แสงจากดวงอาทิตย์ตกตั้งฉากบริเวณประเทศไทยทำให้ได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์เต็มที่ อากาศจึงร้อนมาก แต่อาจจะมีปัจจัยอื่น เช่น พายุฤดูร้อน ทำให้เกิดฝนตกในบางพื้นที่ ทำให้อากาศไม่ร้อนมากในวันดังกล่าว


ส่วนประเด็นที่ 2 อุณหภูมิในช่วงเวลาต่าง ๆ ของวันเปลี่ยนไปอย่างไร? อุณหภูมิของอากาศ เป็นการศึกษาในเนื้อหาทางบรรยากาศ คงต้องเรียนรู้เกี่ยวกับอุณหภูมิของอากาศในแต่ละช่วงเวลาของวัน นอกจากอุณหภูมิในช่วงเดือนเมษายนจะสูงด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว ถ้าพิจารณาอุณหภูมิในแต่ละช่วงของวัน โดยทั่วไปจะพบว่าอุณหภูมิสูงสุดของวันไม่ใช่ตอนเที่ยง แต่เป็นในช่วงประมาณ 15.00–17.00 น. เนื่องจากการที่อุณหภูมิของอากาศสูงสุดในแต่ละวันจะเป็นช่วงที่ปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์ที่บรรยากาศดูดกลืนไว้และปริมาณรังสีที่สะท้อนจากพื้นโลกมีค่าเท่ากัน ซึ่งจะใกล้เคียงกับช่วงเวลาดังกล่าว ส่วนช่วงที่อุณหภูมิของอากาศต่ำสุดของแต่ละวันจะเเกิดเมื่อปริมาณรังสีที่สะท้อนจากพื้นผิวโลกมีค่าลดลงต่ำสุดในเช้าวันใหม่ ก่อนที่บรรยากาศจะเริ่มดูดกลืนรังสีจากดวงอาทิตย์อีกครั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม การที่อากาศจะมีอุณหภูมิสูงสุด ณ ช่วงเวลาใดนั้นยังขึ้นอยู่กับปริมาณเมฆในท้องฟ้า หรือแม้แต่ความยาวนานในการได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากันในแต่ละช่วงฤดูกาลด้วย รวมทั้งสมบัติของมวลอากาศที่ปกคลุมหรือเคลื่อนที่ผ่าน ณ บริเวณต่าง ๆ เช่น มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนในช่วงฤดูหนาว ทำให้อากาศในบริเวณประเทศไทยมีอุณหภูมิต่ำลง ถึงแม้ว่าอากาศจะโปร่งมีดวงอาทิตย์อยู่เหนือท้องฟ้าก็ตาม
“ประเพณีสงกรานต์ของประเทศไทยทำให้ประชาชนได้หยุดพักผ่อนคลายร้อนในช่วงที่อุณหภูมิสูงเช่นนี้ แต่ถ้าเราอยู่ในสภาวะที่มีอุณหภูมิแตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น เล่นน้ำท่ามกลางแสงแดดร้อนจัด หรืออยู่ในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน เช่น เล่นน้ำสงกรานต์ท่ามกลางอากาศที่ร้อนจัดภายนอกแล้วเข้ามาอยู่ในห้องแอร์ การเปลี่ยนสภาวะไปมาเช่นนี้ก็มีโอกาสทำให้เจ็บป่วยได้ ดังนั้นความรู้ที่ได้ให้มาข้างต้นสามารถนำไปช่วยวางแผนตัดสินในการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการเล่นน้ำสงกรานต์” นักวิชาการ สสวท. กล่าว.


ที่มา เดลินิวส์ออนไลน์ http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น